พิธีหมั้นอย่างเดียว แหวนผู้ชายใครเป็นคนซื้อ

จนทำให้คู่บ่าวสาวที่ต้องการจัดแต่ ‘พิธีหมั้นอย่างเดียว’ นั้น เกิดความสับสน และมีคำถามมากมายที่ต้องใช้เวลาหาข้อมูลกันอย่างละเอียด

               โดยคำถามหลักๆ จากเจ้าสาวที่มักจะเป็นฝ่ายดูแลส่วนพิธีการ ก็คงหนีไม่พ้นเกี่ยวกับข้าวของที่ต้องเตรียมในพิธีหมั้น โดยเฉพาะของที่มีมูลค่าอย่างสินสอด และแหวนหมั้น ที่จะต้องตกลงกันให้ดีระหว่างทั้งสองฝ่าย

               คนเตรียมงานจึงต้องเสียเวลาจำนวนมาก ไปกับการหาคำตอบว่าอะไรที่เป็นของสำหรับพิธีหมั้นอย่างเดียว และอะไรที่เป็นของสำหรับพิธีแต่งงานกันแน่

               สำหรับคำตอบในคำถามข้างต้น ว่าในพิธีหมั้นอย่างเดียวนั้น แหวนผู้ชาย ควรจะเป็นความรับผิดชอบของใคร?

               หากจัดงานตามธรรมเนียมไทยแท้ๆ แล้วล่ะก็ สามารถตอบได้ง่ายๆ ตรงนี้เลยว่า ‘ไม่มีค่ะ’

               เพราะในธรรมเนียมไทย การหมั้นนั้น คือการที่ฝ่ายชาย นำของกำนัลมามอบให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นเครื่องประกันและจับจองตัวฝ่ายหญิงเอาไว้ ก่อนจะถึงพิธีแต่งงาน จึงมีเพียงเครื่องประดับสำหรับฝ่ายหญิง โดยอาจจะเป็นแหวน กำไล สังวาล หรือเครื่องประดับอื่นๆ ที่มีมูลค่า

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีแหวนสำหรับฝ่ายชายเสมอไปค่ะ

               ส่วนที่เห็นการแลกแหวนระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในพิธีแต่งงานทั่วๆ ไปนั้น เป็นธรรมเนียมจากตะวันตกที่บ่าวสาวยุคปัจจุบันนิยมกันค่ะ โดยหยิบเอาพิธีแลกแหวนในโบสถ์ของฝรั่ง มารวมเข้ากับพิธีหมั้นแบบไทยๆ นั่นเอง

ถ้าอย่างนั้นแล้วควรจะยึดธรรมเนียมไหน ในการจัดพิธีหมั้นอย่างเดียว?

               คงต้องมาดูที่ความหมาย และความสำคัญในการจัดพิธีหมั้นของไทย รวมถึงลำดับและอุปกรณ์ในพิธีหมั้นอย่างเดียวให้เข้าใจเสียก่อน แล้วค่อยตัดสินใจเลือกว่า จะใช้ธรรมเนียมแบบไหน สำหรับงานหมั้นของคุณค่ะ

ทำไมต้องมีพิธีหมั้นไว้ก่อน?

 

               ประเพณีไทยสมัยโบราณนั้น นิยมจับคู่ลูกสาวลูกชายของ 2 ครอบครัวที่เห็นว่าเหมาะสมกันเมื่อถึงวัยที่ควรจะแต่งงาน โดยจะมีการเจรจากันระหว่างผู้ใหญ่ทั้ง 2 บ้าน หากความเห็นตรงกัน ผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็จะไปจัดการเร่งปลูกเรือนหอเพื่อรับสะใภ้เข้าบ้าน

               ในช่วงเวลาที่ต้องรอเรือนหอเสร็จเรียบร้อยนี้เอง จึงทำให้เกิดพิธีหมั้นไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับครอบครัวฝ่ายหญิงว่า จะยกขันหมากมาสู่ขอลูกสาวบ้านนี้ตามที่พูดจากันไว้อย่างแน่นอน หลังจากเรือนหอเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นเองค่ะ

               พอมาถึงสมัยปัจจุบัน เพื่อความสะดวกของบ่าวสาวและแขกในงาน พิธีหมั้น จึงถูกรวบเข้ากับพิธีแต่งงานอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดงานแล้ว ยังประหยัดเวลาเหลือเพียงแค่งานเช้าและงานเย็นเท่านั้นค่ะ

               แต่สำหรับคู่ที่ต้องการจัดพิธีหมั้นไว้ก่อน ก็คงจะแยกแทบไม่ออกว่า พิธีการส่วนไหนเป็นของพิธีหมั้นอย่างเดียว ส่วนไหนเป็นของพิธีแต่งงาน ยิ่งหากเจ้าสาวเป็นคนจัดเตรียมพิธีหมั้นด้วยตัวเองแล้วล่ะก็ คงจะสับสนอยู่ไม่ใช่น้อย ถ้าอย่างนั้น ลองดูหัวข้อต่อไป ที่จะบอกตั้งแต่ลำดับขั้นตอนไปจนถึงข้าวของที่คุณต้องเตรียมไว้อย่างละเอียดค่ะ

พิธีหมั้นอย่างเดียว มีลำดับงานอย่างไร

               สำหรับลำดับงานในพิธีหมั้นอย่างเดียวนั้น ก็ไม่มีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยาก เพียงแต่ฝ่ายชายจัดหาผู้ใหญ่ในการพูดเจรจาสู่ขอ ก่อนตกลงวันและฤกษ์ดีในการยกสินสอดทองหมั้นไปที่บ้านฝ่ายหญิง ซึ่งอาจทำเป็นการภายในเฉพาะสองครอบครัว หรือจะจัดงานเชิญแขกเหมือนอย่างงานแต่งก็ได้ โดยเริ่มต้นจาก

1. ผู้ใหญ่ฝ่ายชาย เจรจาสู่ขอฝ่ายหญิง พร้อมกับแจ้งว่าได้นำสินสอดอะไร จำนวนเท่าไหร่มาบ้าง

2. ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ตอบตกลงและรับของหมั้นไว้

3. ฝ่ายชายสวมแหวนหมั้นให้กับฝ่ายหญิง เป็นอันเสร็จพิธีหมั้น

               หลังจากเสร็จพิธี ฝ่ายหญิงอาจมีเลี้ยงต้อนรับผู้ใหญ่ฝ่ายชายและแขกที่มาร่วมงานเพื่อเป็นการขอบคุณ ซึ่งผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายที่เลือกมาทำหน้าที่ในการเจรจาสู่ขอนี้ มักจะเลือกผู้ใหญ่ที่มีคุณสมบัติเป็นคู่สามีภรรยาที่ไม่เคยหย่าร้างกัน เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับคู่หมั้นนั่นเองค่ะ

               สิ่งสำคัญในพิธีหมั้นอย่างเดียวที่แตกต่างจากพิธีแต่งงานก็คือ จะไม่มีการนับสินสอดในขันหมากหมั้น เพราะโดยมากแล้วสินสอดมักเป็นเครื่องประดับทองหรือเพชร ไว้ให้เจ้าสาวใส่ในวันแต่งงาน และมีเงินหรือทองตามที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้

อีกทั้งพิธีหมั้นอย่างเดียว มักจะจัดกันเองเฉพาะคนในครอบครัว จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำสินสอดออกมานับเหมือนเช่นพิธีแต่งงานค่ะ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในพิธีหมั้น

1. เงินทองค่าสินสอด ตามที่ได้ตกลงกับทางครอบครัวฝ่ายหญิง

2. เครื่องประดับทองหรือเพชร ปัจจุบันนิยมใช้เป็นแหวนเพชร

3. ขันหมากหมั้น 2 ขัน จะใช้เป็นขันเงิน ขันทอง หรือขันทองเหลืองก็ได้ ซึ่งในแต่ละขัน จะบรรจุของที่ต่างกันดังนี้ค่ะ

ขันใบที่ 1

หมากดิบ 4 หรือ 8 ลูก ฝานก้นออกแล้วป้ายด้วยปูนแดง

ใบพลู 4 หรือ 8 ใบ โดยตัดก้านออกแล้วแต้มปูนแดงที่โคนใบพลูทุกใบ วางเรียงไว้รอบๆ ขัน

ขันใบที่ 2

ใส่เงิน ทอง ค่าสินสอด และเครื่องประดับที่นำมาหมั้นฝ่ายหญิง

รองก้นขันด้วยใบเงิน ใบทอง และใบนาก

แยกถั่วเขียว ข้าวเปลือก งาดำ และข้าวตอก ใส่ถุงเงินถุงทองใบเล็กๆ อย่างละ 1 ถุง

จากนั้นให้หาผ้าลูกไม้ หรือผ้าแก้ว คลุมขันใบที่สองเอาไว้ เป็นเครื่องประกันว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้นหมาย อีกฝ่ายก็สามารถริบขันใบนี้ไปเป็นของตนได้นั่นเองค่ะ

               ข้อสังเกตคือ ขันหมากสำหรับพิธีหมั้นอย่างเดียวนี้ จะไม่มีขบวนแห่ พานขนม ต้นกล้วย ต้นอ้อย และการกั้นประตูเหมือนกับพิธีแต่งงานแต่อย่างใดนะคะ

ของในขัน มีความหมายว่าอย่างไร?

               ถ้าลองสังเกตดูในรายละเอียด น่าจะพอเดาได้ว่าทุกๆ ประเพณีของไทยนั้น ล้วนมีที่มาที่ไปในตัวเองทั้งนั้น ตั้งแต่ขั้นตอนการสู่ขอ เจรจา ที่มาจากค่านิยมและวัฒนธรรมของคนยุคเก่า ไปจนถึงสิ่งของที่นำมาประกอบในพิธี ก็ไม่มีอะไรที่นำมาจัดวางไว้เพื่อ “ให้ดูสวยๆ” เลย

               สำหรับสิ่งของในขันหมากหมั้นก็เช่นเดียวกันค่ะ ทุกๆ องค์ประกอบ ล้วนมีความหมายและเต็มไปด้วยเคล็ดความเชื่อ อันจะนำมาซึ่งสิริมงคลให้กับคู่หมั้น โดยมักจะสื่อไปถึงความเจริญงอกงาม ความราบรื่น และความสุขในชีวิตคู่เป็นหลัก ซึ่งหากจะแจกแจงออกมา ก็พออธิบายได้ดังนี้ค่ะ

หมากดิบและใบพลู

               หมากและพลู ถือเป็นเครื่องต้อนรับแขกที่สำคัญสำหรับคนไทยสมัยก่อนค่ะ ยิ่งมีการประดิดประดอยสวยงาม ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความมีฝีมือของสตรีในบ้านนั้นด้วย

               แต่ในกรณีหมากดิบและใบพลูในขันหมากที่ฝ่ายชายยกมาให้ฝ่ายหญิง ก็หมายถึงการแสดงความนอบน้อมถ่อมตนต่อผู้ปกครองของฝ่ายหญิง จึงนำหมากและพลูมาเป็นเครื่องบรรณาการ เพราะต้องการมาเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิงนั่นเองค่ะ

               ซึ่งการป้ายปูนแดงเอาไว้บนหมากและพลูนั้น ก็เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเป็นเครื่องขันหมากหมั้นโดยเฉพาะ เนื่องจากในพานขันหมากแต่งนั้น จะเป็นหมากดิบและพลูจีบสวยงาม ไม่มีการป้ายปูนแดงเหมือนขันหมากหมั้นค่ะ

               สำหรับจำนวนของหมากและพลู ที่มักจะจัดให้อยู่ในเลข 4 และเลข 8 นั้น ก็เพราะเป็นเลขคู่ที่แสดงถึงความทวีคูณ เป็นนิมิตหมายมงคลสำหรับคู่หมั้นที่กำลังจะสร้างครอบครัวตามความนิยมของคนไทยค่ะ

ใบเงิน ใบทอง ใบนาก

               ในขันหมากหมั้นใบที่สอง ที่จะมีการปูรองก้นขันด้วยใบเงิน ใบทอง และใบนากนั้น ก็เป็นเครื่องหมายถึงการปกป้องคุ้มครองคนในบ้าน เนื่องมาจากว่าใบไม้ทั้งสามชนิดนี้ มักจะถูกนำมาใช้ประกอบพิธีมงคล โดยเฉพาะพิธีทางพุทธศาสนาอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการทำน้ำพุทธมนต์ และการขึ้นบ้านใหม่

               เลยเป็นที่มาของความเชื่อว่า บ้านที่ปลูกต้นเงิน ต้นทอง ต้นนากไว้ภายในบริเวณบ้าน จะทำให้บ้านนั้นมีโชคลาภ ร่ำรวยเงินทอง และเต็มไปด้วยสมบัติมากมายดั่งเช่นใบไม้ รวมถึงมีความศักดิ์สิทธิ์ในการขับไล่สิ่งชั่วร้าย และนำความสงบสุขมาสู่คนในครัวเรือนค่ะ

ถั่วเขียว ข้าวเปลือก งาดำ ข้าวตอก

               ด้วยสังคมไทยสมัยก่อน เป็นสังคมเกษตรกรรม ข้าว จึงเป็นเครื่องแสดงออกถึงความมีฐานะ ความเจริญ และความมั่งคั่ง จนมักจะถูกนำมาใช้ในพิธีมงคลอยู่เสมอๆ

               ในขันหมากหมั้นก็เช่นกันค่ะ ธัญพืชเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ นัยว่าเป็นการอวยพรให้กับคู่หมายที่กำลังจะสร้างครอบครัว ให้มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เหมือนเช่นพืชพันธุ์ในขันหมากนั่นเองค่ะ

แหวนหมั้น จากวัฒนธรรมไทย สู่ค่านิยมตะวันตก

               มาถึงของสำคัญสำหรับพิธีหมั้น ที่กลายเป็นปัญหาคาใจจนเกิดบทความนี้ขึ้นมา หากได้อ่านความหมายของพิธีหมั้นอย่างเดียวมาจนถึงตรงนี้ คงพอจะเข้าใจแล้วว่า แหวนหมั้นในธรรมเนียมไทย มีความหมายที่ต่างจากแหวนหมั้นในธรรมเนียมฝรั่งอย่างไรบ้าง

ด้วยวัฒนธรรมตะวันออก ที่มักจะถือให้ฝ่ายชายมีสิทธิ์มากกว่าฝ่ายหญิง ทั้งในฐานะผู้นำครอบครัว ผู้หารายได้ และผู้ปกป้องคุ้มครองคนในบ้าน จึงทำให้แหวนหมั้นในธรรมเนียมไทย กลายเป็นเครื่องหมายที่แสดงความเป็นเจ้าของฝ่ายหญิงซะมากกว่า

               ในขณะที่วัฒนธรรมตะวันตก แม้จะใช้แหวนหมั้นเป็นเครื่องหมายจับจองฝ่ายหญิงเฉกเช่นเดียวกัน แต่ก็มีประเพณีแลกแหวนในพิธีแต่งงานต่อหน้าบาทหลวง แทนคำสัญญาว่าจะรักเดียวใจเดียวตราบจนหมดลมหายใจ

               โดยที่ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว จะต้องเตรียมแหวนมามอบให้กัน พร้อมร่างคำปฏิญาณตนมากล่าวต่อหน้าแขกทั้งหมดในพิธีอีกด้วยค่ะ

               ดังนั้น หากคุณเลือกจะผสมผสานพิธีหมั้นอย่างเดียวของไทย เข้ากับประเพณีแลกแหวนในพิธีแต่งงานของตะวันตกตามที่ปัจจุบันนิยมกันแล้ว เจ้าสาวก็จะต้องเตรียมแหวนหมั้นมาสวมให้กับเจ้าบ่าวในพิธีด้วยนะคะ

               คงจะพอได้คำตอบกันบ้างแล้วใช่มั้ยคะ ว่าในพิธีหมั้นของคุณนั้นจะเลือกจัดตามธรรมเนียมไทยแท้ๆ หรือผสมผสานสมัยนิยมเข้าไปด้วย แต่ถ้าหากมีคำถามเกี่ยวกับการเลือกแบบแหวนหมั้น หรือต้องการสั่งทำแหวนแต่งงานแล้วล่ะก็ เพชรชมพูยินดีให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องแหวนเพชรได้เลยนะคะ

พิธีหมั้นอย่างเดียว หรือพิธีหมั้นหมายในปัจจุบัน มักจะถูกผนวกรวมไปกับพิธีแต่งงาน จนทำให้ขั้นตอนหลายๆ อย่าง ได้รับการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทั้งการผสมผสานพานสู่ขอของพิธีหมั้นเข้ากับขบวนแห่ขันหมากในพิธีแต่งงาน ไปจนถึงการกั้นประตูรับตัวเจ้าสาว การเจรจาสู่ขอ และการนับสินสอด ที่เอางานหมั้นกับงานแต่งมารวมกันอย่างผสมปนเป

29 August 2019 47114
add line petchchompoo