เหมืองใต้ดินแบบ Block Caving เป็นเทคนิคการทำเหมืองเพชรที่เข้ามาแทนที่วิธี Chambering เนื่องจากความมีประสิทธิภาพและผลทางการค้าที่ดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้แรงงานในการดำเนินงานน้อยกว่าอีกด้วย การทำเหมืองวิธีนี้เริ่มต้นด้วยการวางแนวอุโมงค์คอนกรีตเช่นเดียวกับแบบ Chambering แต่การทำเหมืองแบบ Block Caving จะวางแนวอุโมงค์ใต้บริเวณหินคิมเบอร์ไลต์ประมาณ 140-180 เมตร ช่องว่างทุกๆ 5 เมตร จะเป็น Draw Points หรือ ช่องในอุโมงค์คอนกรีตซึ่งหินคิมเบอร์ไลต์ถูกเจาะและระเบิดเป็นโพรงในกรวยประมาณ 9 เมตรเหนืออุโมงค์ เศษหินจะตกลงมายังช่องกวาดและถูกกวาดออกไปจากอุโมงค์โดยตัวลากหรือถังขนถ่าย ซึ่งติดอยู่กับสายเคเบิ้ลและรอก จากนั้นจะถูกขนถ่ายไปยังรถบรรทุกหรือรถไฟฟ้า ซึ่งจะเทเศษหินทั้งหมดลงในเครื่องย่อยหินใต้ดิน หินที่ถูกย่อยแล้วจะถูกลำเลียงต่อไปตามท่อแนวตั้งบนพื้นดินเพื่อทำการสกัดเพชรต่อไป
เพชรคือผลึกที่บริสุทธิ์ของคาร์บอน (Carbon) ซึ่งเป็นธาตุที่มนุษย์รู้จักกันมากที่สุดธาตุหนึ่งในเชิงเคมี คาร์บอนที่ประกอบขึ้นเป็นเพชรได้ถูกความร้อนและความกดดันสูงบีบอัดจนกลายเป็นผลึกที่มีความแข็งแกร่งอย่างยิ่งยวด เพชรก่อตัวขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อนในชั้นของเปลือกโลกที่ยังไม่แข็งตัว เรียกว่า "เปลือกโลกชั้นใน" ที่อยู่ลึกลงไปจากเปลือกโลกชั้นนอกหลายไมล์ ในบริเวณนี้ชั้นหินซึ่งเคลื่อนตัวได้ทำให้คาร์บอนตกอยู่ภายใต้อุณหภูมิ ซึ่งมีความร้อนหลายร้อยองศาฟาเรนไฮต์ และความกดดันหลายล้านปอนด์ต่อตารางนิ้ว ภายใต้แรงดังกล่าวนี้ คาร์บอน (ซึ่งไม่บริสุทธิ์เสียทีเดียว เพราะมีในโตรเจนและธาตุอื่นปะปนอยู่เล็กน้อย) ถูกปรับโครงสร้างใหม่จนมีรูปลักษณ์เป็น "ก้อนผลึก" ที่มีความแข็งแกร่งอย่างที่สุด
การระเบิดของภูเขาไฟจะพาเพชรขึ้นสู่ผิวโลกในรูปของหินหนืดที่หลอมละลายกลายเป็นธารลาวาที่แข็งตัว และให้กำเนิดสิ่งที่เรียกกันว่า "ปล่องคิมเบอร์ไลท์" (Kimberlite Pipe) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามชื่อเมืองในแอฟริกาใต้ที่ได้ค้นพบเหมืองเพชรที่ใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน "ปล่อง" ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดยาวนี้แท้จริงก็คือ ช่องทางที่ภูเขาไฟเก่าแก่นำสินแร่เหลว ซึ่งมีเพชรปะปนอยู่ขึ้นมาใกล้ผิวโลก
ต่อมาการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ทางธรณีวิทยา หรือ "การเลื่อน" ของเปลือกโลก และการผุกร่อนตามธรรมชาติ ทำให้ปล่องนี้ปรากฎขึ้น ลมและน้ำค่อยๆ กัดเซาะหินส่วนที่ไม่แน่นหนาออกไป ทำให้ผลึกเพชรที่ฝังตัวอยู่ด้านในค่อยๆ หลุดออกมา เพชรก้อนดิบตามธรรมชาติจะถูกชะล้างให้ไหลไปตามแม่น้ำลำคลอง และมีหลายแห่งที่ไปไกลถึงทะเล เพชรเหล่านี้จะตกปะปนอยู่กับกรวดทรายก้นแม่น้ำ และมักจะถูกฝังลงไปภายใต้พื้นทราย ซึ่งมีน้ำหนักนับเป็นตันๆ อีกครั้งหนึ่ง
การทำเหมืองเพชรนั้น สามารถแบ่งตามวิธีการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การทำเหมืองเพชรแบบเหมืองตะกอนน้ำพาซึ่งเป็นการทำเหมืองเพชรแบบดั้งเดิม แบบเหมืองหลุมเปิด และเหมืองใต้ดินแบบ Block Caving ซึ่งมีรายละเอียดและขั้นตอนดังนี้
เหมืองตะกอนน้ำพา เป็นการทำเหมืองแบบดั้งเดิม มีลักษณะเช่นเดียวกับการขุดแบบบ่อพลอย อุปกรณ์ที่ใช้และขั้นตอนการดำเนินการไม่ยุ่งยากซับซ้อนได้แก่ ถัง จอบ ปั้นจั่นแบบชั่วคราว ปัจจุบันการทำเหมืองแบบนี้ยังมีอยู่ในหลายประเทศโดยเฉพาะสำหรับการประกอบการแบบธุรกิจภายในครอบครัว ส่วนการทำเหมืองขนาดใหญ่จะใช้อุปกรณ์ทันสมัยและเครื่องจักรต่างๆ จะเข้ามามีบทบาทมาก
เหมืองหลุมเปิด การทำเหมืองแบบหลุมเปิดเป็นการทำเหมืองในบริเวณแหล่งปฐมภูมิ คือ บริเวณแหล่งกำเนิดของเพชร ได้แก่ ลำหินอัคนีคิมเบอร์ไลต์ โดยหลังจากที่พบลำหินต้นกำเนิดแล้วก็จะมีการศึกษาลักษณะของแหล่งดังกล่าวและประเมินผลผลิตที่จะได้ การทำเหมืองหลุมเปิดเริ่มจากการขุดเอาดินและหินที่ทับถมอยู่ออก จนเมื่อถึงชั้นหินแข็งจะทำการระเบิดหิน และหินนั้นจะถูกนำไปผ่านกระบวนการย่อยและคัดแยกต่อไป การขุดเจาะจะดำเนินไปเรื่อยๆ โดยจะเป็นลักษณะขั้นบันได หากผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มกับการลงทุน ผู้ประกอบการอาจเริ่มดำเนินการทำเหมืองใต้ดินต่อไป